พรบ.คอมพิวเตอร์ปี 2550

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

เป็นปีที่ ๖๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ

ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศ

ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

“ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่า อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน โดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ

“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

“ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น

“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า

(๑) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดย

ประการอื่น โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

(๒) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น

“ผู้ใช้บริการ” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑

--------------------------

ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

มาตรา ๕ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึง

โดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๖ ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๑ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๑๒ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐

(๑) ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นในทันทีหรือในภายหลังและไม่ว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

(๒) เป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะ หรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท

ถ้าการกระทำความผิดตาม (๒) เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

มาตรา ๑๓ ผู้ใดจำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)

มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔

มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูล

คอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อเติม

หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด

ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้

ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

มาตรา ๑๗ ผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้นอกราชอาณาจักรและ

(๑) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ

(๒) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร




หมวด ๒

พนักงานเจ้าหน้าที่

----------------------

มาตรา ๑๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด

(๑) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้

(๒) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๓) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา ๒๖ หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(๔) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่

(๕) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(๖) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้

(๗) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว

(๘) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียดแห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๙ การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ(๘) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วยในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา ๑๘ (๔) (๕) (๖) (๗) และ(๘) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน

การทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๑๘ (๔) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น

การยึดหรืออายัดตามมาตรา ๑๘ (๘) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรืออายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอขยายเวลายึดหรืออายัดได้ แต่ศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งรวมกันได้อีกไม่เกินหกสิบวัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน

หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๒๐ ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลาย ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในภาคสองลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้

มาตรา ๒๑ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พบว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดมีชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายหรือเผยแพร่ หรือสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นระงับการใช้ ทำลายหรือแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ มีไว้ในครอบครอง หรือเผยแพร่ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ดังกล่าวก็ได้

ชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์ตามวรรคหนึ่งหมายถึงชุดคำสั่งที่มีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งอื่นเกิดความเสียหาย ถูกทำลาย ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขัดข้อง หรือปฏิบัติงานไม่ตรงตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือโดยประการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงทั้งนี้ เว้นแต่เป็นชุดคำสั่งที่มุ่งหมายในการป้องกันหรือแก้ไขชุดคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ให้แก่บุคคลใด

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงาน เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล

พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน

หกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๓ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์

ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษจำคุก

ไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๔ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลของ

ผู้ใช้บริการ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามมาตรา ๑๘ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๒๕ ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่

ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อ้างและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย

วิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยานได้ แต่ต้องเป็นชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจมีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น

มาตรา ๒๖ ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน

นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการ

ผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

และเฉพาะคราวก็ได้

ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการ

นับตั้งแต่เริ่มใช้บริการและต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง

ความในวรรคหนึ่งจะใช้กับผู้ให้บริการประเภทใด อย่างไร และเมื่อใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรี

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ให้บริการผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๒๗ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา ๑๘

หรือมาตรา ๒๐ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา ๒๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา ๒๘ การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้

และความชำนาญเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และมีคุณสมบัติตามที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๒๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงาน

ฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีอำนาจรับคำร้องทุกข์

หรือรับคำกล่าวโทษ และมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

ในการจับ ควบคุม ค้น การทำสำนวนสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตาม

พระราชบัญญัตินี้ บรรดาที่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือพนักงาน

สอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานกับพนักงาน

สอบสวนผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐมนตรีมีอำนาจร่วมกัน

กำหนดระเบียบเกี่ยวกับแนวทางและวิธีปฏิบัติในการดำเนินการตามวรรคสอง

มาตรา ๓๐ ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคล

ซึ่งเกี่ยวข้อง



บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา




ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี







หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสำคัญของการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากมีผู้กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ 04:51 , 0 Comments

ภาพสวย ๆ ธรรมชาติในเมืองไทย

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ที่ 04:16 , 0 Comments

ความเป็นมาของวันสงกรานต์

"สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำในเทศกาลนี้ก็มี การทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกัน เป็นต้น อย่างไรก็ดี นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ประเพณีสงกรานต์ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง สำหรับเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์มีดังนี้
ก่อนที่เราจะถือวันสงกรานต์เป็นปีใหม่แบบไทยนั้น สมัยโบราณ เราถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าฤดูหนาว เป็นการเริ่มต้นปี ซึ่งจะตกราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากการสังเกตธรรมชาติและฤดูการผลิต เป็น วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ หรือประมาณเดือนเมษายน ครั้นในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ เมษายน และต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ จอมพลป.พิบูลสงครามก็ได้ประกาศให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่จนปัจจุบัน อันเป็นการนับแบบสากล อย่างไรก็ดี คนไทยในหลายภูมิภาคก็ยังยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งแต่เดิมแม้จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ก็ไม่ได้ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ดังเช่นปัจจุบัน จนเมื่อพ.ศ.๒๔๔๔ เป็นต้นมา จึงได้กำหนดเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ตามปฏิทินเกรกอรี่
๒. นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีมอญ พม่า ลาว และชนชาติไทยเชื้อสายต่างๆอันเป็นชนส่วนน้อยในจีน อินเดีย ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน
๓. ภาคกลางเรียกวันที่ ๑๓ เมษายน ว่า “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งวันนี้ทางการได้ประกาศให้เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” วันที่ ๑๔ เมษายน เรียก “วันเนา” และรัฐบาลสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้ประกาศให้เป็น “วันครอบครัว” ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายน เรียก “วันเถลิงศก” คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่
๔. ทางล้านนาเรียกวันที่ ๑๓ เมษายนว่า “วันสังขารล่อง” ซึ่งบางท่านให้ความหมายว่า หมายถึงอายุสิ้นไปอีกปี วันที่ ๑๔ เมษายน เรียก“วันเน่า” เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายนเรียก “วันพญาวัน” คือวันเปลี่ยนศกใหม่
๕. ภาคใต้ เรียกวันที่๑๓ เมษายนว่า “วันเจ้าเมืองเก่า”หรือ “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ส่วนวันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ดังนั้น ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่างๆ แล้วไปทำบุญที่วัด ส่วนวันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่นแล้ว
๖. ตำนานสงกรานต์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสงกรานต์และนางสงกรานต์ที่เรารู้จักกันดีเป็นตำนานที่ รัชกาลที่ ๓ โปรดให้จารึกไว้ในแผ่นศิลา ๗ แผ่น ติดไว้ที่ศาลารอบพระมณฑปทิศเหนือ ในวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์
๗. นางสงกรานต์เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุด มีด้วยกัน ๗ องค์เป็นพี่น้องกัน และต่างก็เป็นบาทบริจาริกา แปลว่า นางบำเรอแทบเท้า หรือเรียกง่ายๆว่า เป็น “เมียน้อย”ของพระอินทร์ จอมเทวราช และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมในตำนาน
๘. นางสงกรานต์ มีชื่อตามแต่ละวันในสัปดาห์คือ วันอาทิตย์ ชื่อ นางทุงษะ วันจันทร์ ชื่อ นางโคราคะ วันอังคาร ชื่อ นางรากษส วันพุธ ชื่อ นางมณฑา วันพฤหัสบดี ชื่อ นางกิริณี วันศุกร์ ชื่อ นางกิมิทา วันเสาร์ชื่อ นางมโหทร
๙. นางสงกรานต์แต่ละองค์จะมีพาหนะทรงต่างกัน ตามลำดับแต่ละวัน คือ นางทุงษะขี่ครุฑ นางโคราคะขี่เสือ นางรากษสขี่หมู นางมณฑาขี่ลา นางกิริณีขี่ช้าง นางกิมิทาขี่ควาย และนางมโหทรขี่นกยูง ซึ่งสัตว์ที่เป็นพาหนะทรงจะมิใช่ปีนักษัตรของปีนั้นๆ ตามที่หลายคนเข้าใจผิด
๑๐. คำว่า “ดำหัว”ปกติแปลว่า “สระผม” แต่ในประเพณีสงกรานต์ล้านนา จะหมายถึง การไปแสดงความเคารพ ขออโหสิกรรมที่อาจได้ล่วงเกินในเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งการไปขอพรจากผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ในเมืองหรือครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา โดยส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยไปไหว้ท่าน และท่านก็จะจุ่มแล้วเอาน้ำแปะบนศีรษะเป็นเสร็จพิธี
๑๑. ในสมัยก่อนเมื่อใกล้สงกรานต์หรือวันสงกรานต์ จะมีสัตว์ชนิดหนึ่งที่คนแต่ก่อนเรียกว่า “ตัวสงกรานต์” เป็นสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายไส้เดือน แต่เล็กขนาดเส้นด้าย ยาวประมาณ ๒ นิ้ว มีสีเลื่อมพราย เป็นสีเขียว เหลือง แดง ม่วง เปลี่ยนสีไปได้เรื่อยๆ จะอยู่กันเป็นฝูงในแม่น้ำลำคลอง เมื่อกระดิกตัวว่ายน้ำจะทำให้เกิดประกายสีต่างๆสวยงามแปลกตา ถ้าจับพ้นน้ำ สีจะจางหายไป ตัวจะขาดเป็นท่อนเล็กๆและเหลวละลาย ปัจจุบันเข้าใจว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว
๑๒. มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทราย มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้

วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่ 20:20 , 0 Comments

ความสำคัญของวันสงกรานต์


วันสงกรานต์
ประเพณีสงกรานต์ของไทยนั้น โดยปกติจะถือเอาช่วงวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ของทุกปี เป็นช่วงระยะเวลาของเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม กำหนดช่วงเวลาสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาประเพณีสงกรานต์ถือเป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณช่วงวันสงกรานต์จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม และ ศาสนาดังคุณค่าต่อต่อครอบครัว ทำให้สมาชิกของครอบครัวได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกันเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาเช่นช่วยกันทำความสะอาดบ้าน จัดบ้านใหม่ ช่วยกันทำขนมไว้ทำบุญและเลี้ยงลูกหลาน จัดหาผ้าใหม่มอบให้คนรักนับถือ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ คุณค่าต่อชุมชนทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น ส่งขนมของกินให้แก่กันและกันร่วมกันทำบุญให้ทาน พบปะสังสรรค์ สนุกสนานรื่นเริงร่วมกันคุณค่าต่อสังคม ทำให้มีความเอื่ออาทรต่อบุคคลในสังคมและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ต่าง ๆ คุณค่าต่อศาสนา ช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนา โดยการทำบุญตักบาตร เลื้ยงพระ การปฏิบัติ ธรรมฟังเทศน์ การสรงน้ำพระกิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมให้มีการปฏิบัติการเตรียมงาน- การเตรียมเครื่องนุ่งห่ม เป็นการเตรียมเครื่องนุ่งห่มให้สะอาดเรียบร้อย หรือจะใช้ชุดใหม่ก็ได้ รวมทั้งการเตรียมผ้าสำหรับใช้ในการไหว้บิดา มารดา หรือ ญาติผู้ใหญ่คนรักนับถือ- การทำความสะอาดบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยบริเวณต่าง ๆ ในชุมชนที่อยู่ เช่น วัดวาอารามที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับทำบุญหรือที่สาธารณะอื่น ๆ การจัดงาน- การทำบุญตักบาตรตอนเช้า หรือนำอาหารไปเลี้ยงพระที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว- การก่อเจดีย์ทราย โดยขนทรายเข้าวัด แล้วร่วมกันก่อเจดีย์ทรายเป็นรูปเจดีย์หริอรูปสัตว์ต่าง ๆปักธงหลากสี ธูปเทียนและดอกไม้เป็นเครื่องบูชาพระ- การทำทาน โดยการปล่อยนก ปล่อยให้นกไปสู่อิสระ ไปป่าปล่อยปลาปล่อยแม่ปลาหรือปลาใหญ่รวมทั้งการฟังเทศน์ถือศีลปฏิบัติธรรม การสรงน้ำพระพุทธรูปในบ้านและที่วัด โดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำผสมน้ำอบไทยลอยด้วยดอกไม้สดเช่น ดอกมะลิ สรงน้ำพระภิกษุสามเณรด้วยน้ำสะอาด แล้วถวายผ้าสบงหรือผ้าไตร- การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยใช้น้ำสะอาด หรือน้ำผสมน้ำอบไทยลอยด้วยดอกไม้สด เช่น ดอกมะลิ หรือตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ การเล่นรดน้ำ เชื่อมความสัมพันธ์กับญาติมิตรสหาย โดยใช้น้ำสะอาดและเล่นอย่างสุภาพเหมาะสมกับกาลเทศะไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น- การละเล่นรื่นเริงอื่น ๆ ตามประเพณีนิยมของท้องถิ่นนั้น
การปฏิบัติที่ถูกต้องในช่วงสงกรานต์
๑. การดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาไม่สามารถครองสติได้ ไม่ควรขับขี่ยวดยานพาหนะ
๒. หลีกเลี่ยง ประแป้งที่บริเวณใบหน้าของสุภาพสตรีและบริเวณลำตัว เนื่องจากจะเกิดความเสียหายได้
๓. การสังสรรค์ควรอยู่ในความพอประมาณ ไม่ก่อความรำคาญให้ผู้อื่น
เพลงเพราะ ๆ ในวันสงกรานต์ครับ


"คนไทยเมาไม่ขับครับ"

วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553 ที่ 20:42 , 0 Comments